เกิดอะไรขึ้นในอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย 2017

E-Commerce Rewind 2017

e-Conomy Southeast Asia Spotlight 2017 รีพอร์ตเป็นการศึกษาล่าสุดโดยบริษัท Google และ Temasek เผยว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตจนมีขนาดกว่า 88.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 ซึ่งปัจจุบันตลาดมีขนาดอยู่ที่ 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นใช้เวลาในการช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่าคนในประเทศสหรัฐอเมริกาเกือบ 2 เท่า โดยใช้เวลาเฉลี่ย 140 นาทีต่อเดือน ขณะที่คนอเมริกันใช้เวลาเพียง 80 นาทีต่อเดือนเท่านั้น จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ทางบริษัท iPrice ซึ่งเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซใน 7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้จัดทำการศึกษาตลาดอีคอมเมิร์ซเฉพาะในประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ศึกษาความสนใจของคนไทยต่อร้านค้าอีคอมเมิร์ซชื่อดัง,จัดอันดับแอพพลิเคชั่นในปี 2017, ร้านค้าออนไลน์ที่มีความโดดเด่นทางด้านโซเชียลมีเดีย และไฮไลท์เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2017 ที่จะส่งผลต่อเกมอีคอมเมิร์ซในปีหน้า โดยพบผลการศึกษาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

งานออนไลน์เซล 12.12 คนไทยให้ความสนใจพุ่งแซงหน้างานออนไลน์เซล 11.11

เพิ่งจบไปหมาด ๆ กับงานออนไลน์เซลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปีนี้อย่าง 11.11 และ 12.12 คงไม่มีใครคาดคิดว่างานออนไลน์เซล 12.12 จะได้รับความสนใจจากคนไทยมากกว่า 11.11 เสียอีก เนื่องจากงาน 11.11 ได้รับการโปรโมทอย่างล้นหลามผ่านทางโซเชียลมีเดียและสำนักข่าวต่าง ๆ ที่สำคัญงาน 11.11 ยังนำทัพมาโดยเว็บออนไลน์ชื่อดังอย่างของจีนอีกด้วย

จากการศึกษา Google Trends พบว่างานเซลสินค้า 12.12 ของ Lazada ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั้นพุ่งนำ 11.11 อย่างไม่น่าเชื่อ โดยดัชนี search interest index ที่เป็นตัวชี้ความสนใจของคนไทยต่อ Lazada วันที่ 12 ธันวาคมนั้นสูงถึง 100 คะแนนซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบปี ส่วนดัชนี search interest index ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนั้นอยู่ที่ 93 คะแนน

งานออนไลน์เซลกระตุ้นความสนใจของคนไทยต่อการช้อปออนไลน์

ในปี 2017 ที่ผ่านมายังมีเทศกาลออนไลน์เซลที่ร้านค้าชื่อดังนำมาใช้ในการกระตุ้นยอดขายกันอีกมากมาย เช่น งาน 5th Lazada Birthday Sale ซึ่งจัดขึ้นทุกปีและปีนี้ก็เป็นปีที่ 5 แล้ว โดยปีนี้จัดขึ้นตรงกับวันที่ 21-23 มีนาคม ทำให้มีการค้นหาชื่อร้าน Lazada ในช่วงเทศกาลดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ

เทศกาล Carnival Summer Sale เป็นงานที่ทางห้าง Central จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขายระหว่างวันที่ 1-12 เมษายนที่ห้าง Central World นั้น ไม่เพียงแต่ได้รับความสนใจจากผู้คนที่เดินเท้าเข้าไปช้อปกระจายกันในห้าง แต่ยังพบว่าคนในโลกออนไลน์ให้ความสนใจต่อร้านค้า Central Online ในช่วงนี้เช่นกัน โดยดัชนี search interest index ของร้านค้า Central Online ในช่วงต้นเดือนเมษายนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 23 คะแนน ขณะที่ค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาปกติอยู่ที่ 18 คะแนนเท่านั้น

อีกหนึ่งร้านค้าออนไลน์ชื่อดังอย่าง Shopee ก็ได้มีการจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายเช่นกันในวันที่ 9 เดือนกันยายนภายใต้แคมเปญ 9.9 Mobile Shopping Day ซึ่งนำดาราดังอย่างณเดชน์ คูกิมิยะและอุรัสยา สเปอร์บันด์มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Shopee เพื่อเรียกความสนใจจากเทศกาลออนไลน์ดังกล่าว คนไทยหันมาให้ความสนใจร้านค้า Shopee มากขึ้น เห็นได้จาก search interest index ในเดือนสิงหาคมจนถึงปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา

5 สุดยอดแอพฯ แหล่งช้อปปิ้งออนไลน์ประจำปี 2017

ในปี 2017, 90% ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากทางสมาร์ทโฟน กล่าวคือสมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญแทนที่คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนช่วยให้คนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ดังนั้นร้านค้าออนไลน์ในโลกอีคอมเมิร์ซที่เล็งเห็นถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไปนี้ ได้หันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นซื้อขายสินค้าออนไลน์เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าในอนาคต

จากการศึกษาพบว่าในปี 2017 ที่ผ่านมา แอพฯ สำหรับการช้อปออนไลน์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงแย่งชิงตำแหน่งกันอย่างเข้มข้น โดยผลการศึกษาแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ App Store และ Google Play

Shopee ขึ้นนำ Lazada ใน App Store

การแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่าง Lazada และ Shopee โดย Shopee เป็นร้านค้าที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบแอพฯ ให้ง่ายต่อการใช้งานของผู้บริโภคสามารถขึ้นมาเป็นที่หนึ่งบน App Store ตั้งแต่ไตรมาสที่สอง ของปีนี้ ทิ้ง Lazada ให้เป็นรองอันดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามผู้นำตลาดอย่าง Lazada ยังคงครองแชมป์ใน Google Play อย่างแข็งแกร่ง และเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าในปี 2018 นี้ Shopee จะงัดกลยุทธ์ไหนออกมาโค่นแชมป์ลง

Chilindo ขึ้นชิงตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง

ร้านขายสินค้าออนไลน์ Chilindo ที่ขายสินค้าในรูปแบบการประมูล ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นที่จับตามองในสื่อต่าง ๆ มากนัก แต่จากผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นแล้วว่า Chilindo เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอีกรายหนึ่ง โดยมีการไต่ตำแหน่งขึ้นอย่างสม่ำเสมอทั้งใน App Store และ Google Play โดยในปัจจุบัน Chilindo ครองตำแหน่งอยู่อันดับ 3 ในทั้งสองแพลตฟอร์ม

Aliexpress คู่แข่งรายใหม่ที่ค่อนข้างน่ากลัว

คนไทยอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อแอพฯ หรือเว็บไซต์ Aliexpress กันมากนัก แต่ถ้าหากพูดถึง Alibaba ที่เป็นบริษัทแม่ของ Aliexpress เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องรู้จักแน่นอน โดยเจ้าแอพฯ Aliexpress เป็นเสมือนม้ามืดที่เข้าตำแหน่งที่ 5 ทั้งที่แอพฯ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจาก Aliexpress มีเวอร์ชั่นภาษาไทยจึงทำให้ง่ายต่อการช้อปสินค้าของคนไทยที่นิยมซื้อสินค้าจากประเทศจีน จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในปีหน้านี้ว่า Aliexpress จะสามารถขึ้นครองใจคนไทยได้ถึงตำแหน่งไหน

การกลับมาของ Pomelo

ร้าน Pomelo ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าประเภทแฟชั่นนั้นได้ติดอันดับ 4 ในไตรมาสที่สามของ App Store เนื่องจาก Pomelo เพิ่งเข้ามาพัฒนาแอพฯอย่างจริงจังจึงทำให้ Pomelo สามารถติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว และเป็นที่น่าจับตามองว่า Pomelo จะจัดกลยุทธ์ไหนเพื่อนำแอพฯ Pomelo ให้กับมาขึ้นท็อป 5 อีกครั้งในปี 2018 นี้

5 ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่มียอดโซเชียลมีเดีย (Facebook) สูงสุดประจำปี 2017

จากการศึกษาร่วมกับบริษัท Socialbakers ซึ่งเป็นผู้นำในด้านโซเชียลมีเดียพบว่า ในปี 2017 มีรายชื่อร้านค้าออนไลน์ที่ติดอันดับยอดผู้ติดตามบน Facebook สูงสุดดังต่อไปนี้

อันดับที่หนึ่ง คงหนีไม่พ้นยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada ที่มีการใช้กลยุทธ์แบบ regional strategy คือการรวมเพจของทุกประเทศเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ดี Lazada Thailand ก็ยังเป็นที่หนึ่งนำแฟนเพจร้านช้อปปิ้งออนไลน์อื่น ๆ ในประเทศไทย สาเหตุมาจาก Lazada นั้นใช้ Facebook เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยกระตุ้นยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นการไลฟ์สดขายสินค้า, การโปรโมทเทศกาลออนไลน์ต่าง ๆ, การนำเสนอส่วนลดและสินค้าลดราคาแบบ Flash Sale นี่จึงเป็นจุดเด่นที่ดึงดูดคนให้มากดไลค์ให้เพจ Lazada เพื่อติดตามดีลดี ๆ นั่นเอง

ส่วนแฟนเพจของ Chilindo นั้นมีการโปรโมทที่แอ็กทีฟกว่าเพจอื่น ๆ กล่าวคือมีการโพสต์รูปภาพและวิดีโอที่น่าสนใจ เช่น การนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ที่กำลังเป็นกระแสหรือการใช้เกมสร้าง engagement กับลูกเพจ อีกทั้ง Chilindo ยังเข้าใจถึงความตลกและขี้เล่นของคนไทย ในปีที่ผ่านมาจึงมีโพสต์ขำ ๆ มาให้ลูกเพจได้ร่วมแสดงความเห็นอยู่เสมอ

อีกหนึ่งแฟนเพจที่น่าจับตามองที่สุดก็คือ We Mall ซึ่งมีการสร้างจุดเด่นเป็นร้านขายสินค้าออนไลน์แบรนด์เนมแห่งแรกในประเทศไทย กล่าวคือ We Mall จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักช้อปออนไลน์ที่ชื่นชอบแบรนด์เนม และความสะดวกสบายในโลกยุคดิจิทัลด้วยรูปแบบการโปรโมทสินค้าแบรนด์เนมอย่างต่อเนื่องบน Facebook จึงทำให้คนไทยเชื่อว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพจาก We Mall

ไฮไลท์เหตุการณ์ประจำปี 2017

อีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นทุกปี และในปี 2017 ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เป็นไฮไลท์เด่น ๆ มากมาย ที่ทำให้ปีนี้ เป็นอีกปีหนึ่งที่ขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยไปข้างหน้า

การขยายตัวของ Central

เป็นข่าวครึกโครมจนสะเทือนวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเอเชียกับการจับมือระหว่าง Central และ JD.com เพื่อผันตัวเองเข้าสู่ Cyber Trade พร้อมควักเงินทุนลงไปอีก 17,500 ล้านบาท เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจ B2C และธุรกิจ B2B ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์เพราะ JD.com ก็ตั้งเป้าขยายอนาเขตให้ครอบคลุมทุกประเทศในอาเซียนเช่นกัน แต่คงต้องผ่านคู่แข่งอย่าง Lazada ที่มีเงินสนับสนุนจาก Alibaba ก่อน นอกจากการผนึกกำลังกับ JD.com แล้ว ปี 2017 ยังถือเป็นปีที่ Central ขยายธุรกิจอีกผ่านหลายข่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อ Zalora แล้วเปลี่ยนเป็น Looksi ในไทย แถมยังเป็นแหล่งเงินทุนกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซชื่อดังมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Pomelo ร้านค้าแฟชั่นที่หลายคนรู้จัก

ETDA สนับสนุนคนไทยโตด้วย E-Commerce

ETDA หรือ สพธอ จัดงาน ‘Online! Shall We Go… วิ่งให้ทันโอกาส เพราะตลาดอีคอมเมิร์ซไม่รอใคร’ ขึ้นเมื่อวันที่ 24-26 พฤศจิกายน ภายในงานมีการให้ความรู้ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ทางการตลาดมากมาย อาทิ การจัดบูทรวมบริการอีคอมเมิร์ซ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างคอนเนคชั่น และนำไอเดียไปต่อยอดธุรกิจของตนเอง, สัมมนาผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซทั้งไทย-เทศ พร้อมเทรนด์การตลาดรูปแบบใหม่ และ Work Shop เทคนิคการขายที่แฝงกลเม็ดเคล็ดลับดี ๆ ที่สามารถใช้งานได้จริง กิจกรรมทั้งหมดนี้ทาง ETDA เพื่อเสริมให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทยแข็งแกร่ง และเจริญเติบโตกว่าเดิม

11 Street เจาะตลาดในไทยอย่างเป็นทางการ

หลังจากประสบความสำเร็จในเกาหลีใต้, มาเลเซีย, ตุรกี และอินโดนีเซีย ล่าสุด 11 Street ได้เลือกประเทศไทยเป็นสาขาที่ 5 อย่างเต็มตัว พร้อมแผนเปิด 11 Street Campus เพื่อช่วยเหลือควบคู่ไปกับการสนับสนุนผู้ค้าด้วยบริการด้านการเรียนรู้และการอบรมผ่านบริการต่าง ๆ เช่น สตูดิโอถ่ายภาพสินค้าที่มีเทคโนโลยีครบครัน

การที่ 11 Street เลือกประเทศไทยเป็นกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ 11 Street ต้องแข่งขันกับอีคอมเมิร์ซทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติที่มีเงินสนับสนุนมาก เห็นได้ชัดจากการที่ผู้บริหารเริ่มวางกลยุทธ์ทางการตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมวางแผนโปรโมทอย่างต่อเนื่อง แต่จากประสบการณ์ที่สร้างสมมานานในต่างแดน คาดว่าคงไม่ยากเกินกำลังของ 11 Street ถึงแม้จะมีข่าว SK Planet บริษัทแม่ของ 11 Street ถอนธุรกิจจากอินโดนีเซียโดยการ Joint Venture กว่า 50% กับบริษัท Elevenia และอาจตามมาเลิกกิจการ 11 Street ในไทย แต่มันก็เป็นข่าวลือ เพราะทาง SK Planet ออกมาแถลงแล้วว่าไม่เป็นความจริง พร้อมยืนยันว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโต จึงไม่มีแพลนถอนทุนออกแน่นอน และยังมุ่งร่วมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับร้านค้าในประเทศไทยต่อไป และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา 11 Street เพิ่งได้มีการจับมือกับ True Shopping ร้านขายของใช้ภายในบ้านชื่อดังในการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม

คุมเข้มภาษี e-Business แต่ไม่เพิ่มภาษีอีคอมเมิร์ซ

แม้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจะไม่ต้องเสียภาษีเทียบเท่ากับการค้าทั่วไป แต่กลับมีช่องโหว่จนทำให้เกิดความอยุติธรรม ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อความเท่าเทียมรัฐบาลจึงมีการถกเถียง และออกนโยบายให้มีการเรียกเก็บภาษี e-Business เพื่อกันปัญหานักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำการค้าผูกขาดในไทย ซึ่งข้อถกเถียงนี้ยังไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ คาดว่าไม่เกินกลางปี 2018 คงได้เห็นข้อกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่นั้นคงต้องรอขณะกรรมการสรุปให้ทราบอีกครั้ง

และปี 2017 ก็เป็นอีกปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายในตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย โดยมีอัตราการเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วถึง 9.86% ยิ่งถ้าเจ้าไหนทำการตลาดแบบ Micro-Moments ที่สนองตอบความต้องการของลูกค้าที่อยากซื้อสินค้าทันที ยิ่งจับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้อยู่หมัด แต่ใจความสำคัญของการช้อปออนไลน์ไม่ได้อยู่ที่สินค้าเพียงอย่างเดียว ระบบ Delivery และ e-payment ก็สำคัญ ดังนั้นในปี 2018 ที่จะถึงจึงเป็นอีกปีที่น่าจับตามองว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางใด และมีผู้แข่งขันหรือบริการใดที่จะเข้ามาเสริมให้ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยแข็งแกร่งขึ้นจนเติบโตเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ภายในปี 2025 นี้

ขั้นตอนการศึกษา

  1. เก็บข้อมูลจาก Google Trends ประจำปี พ.ศ. 2560 โดยใช้คีย์เวิร์ดเป็น 5 ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่ได้รับการค้นหามากที่สุดในปีนี้ ซึ่งใช้ค่า Search Interest Index เป็นเกณฑ์ ซึ่งเป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงความสนใจในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซนั้น ๆ ใน Google ซึ่ง 100 หมายถึงมีค่าความสนใจสูงสุด และ 0 คือมีค่าความสนใจต่ำที่สุด ข้อมูลเพิ่มเติม : คลิก
  2. การจัดอันดับแอพฯ เก็บข้อมูลจาก App Annie ซึ่งเป็นเว็บไซต์ผู้นำด้านข้อมูลทางการตลาดและอินไซต์ โดยเก็บอันดับของแต่ละแอพพลิเคชั่นทุกวันจันทร์ตลอดทั้งปีและนำมาหาค่าเฉลี่ย
  3. การจัดอันดับ Facebook Page เก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ Socialbakers ซึ่งเป็นผู้นำในด้านโซเชียลมีเดีย รายชื่อแฟนเพจที่ได้รับการจัดอันดับเป็นแฟนเพจในหมวดหมู่ e-shop ในประเทศไทยเท่านั้น และเป็นร้านค้าประเภทที่มีการขายสินค้าออนไลน์หลายหมวดหมู่ กล่าวคือไม่รวมร้านค้าประเภทแบรนด์เนม โดยเก็บข้อมูล ณ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เขียนและวิเคราะห์โดย กันต์พจน์ สุริวงศ์ iPrice


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!