ก.พาณิชย์เตือนคนขายของออนไลน์ให้มาจดทะเบียน, เตรียมตรวจสอบ พร้อมส่งดำเนินคดี

มีข่าวมาฝากสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ครับ  โดยเฉพาะคนที่ขายดีๆ มีกิจการรุ่งเรืองยิ่งต้องระวังและทำให้ถูกต้อง เมื่อกระทรวงพาณิชย์ออกโรงเตือนว่าให้คนที่ขายของออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่มีปัญหาเรื่องการซื้อขาย พร้อมกันนี้ยังเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและเรียกผู้ประกอบการที่ยังไม่จดทะเบียนดังกล่าวมาเสียค่าปรับ หรือสนับสนุนให้ดำเนินคดีทางกฏหมายในกรณีที่เกิดปัญหาการฟ้องร้องกับผู้บริโภคอีกด้วย

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้เข้มงวดในตรวจสอบผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือการบริการซื้อ สินค้าสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หลังจากมีร้านมาขึ้นทะเบียนกับกรมฯ เพียง 12,151 ราย หรือจำนวน 13,811 เว็บไซต์ ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ค้าขายที่มีอยู่หลายแสนราย เบื้องต้นจะตรวจสอบเว็บไซต์ที่ซื้อขายสินค้าออนไลน์ทั้งหมด หากพบว่าไม่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้อง ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจ และส่งดำเนินคดีทุกราย เพราะหากไม่จดทะเบียนให้ถูกต้องถือว่าเป็นคนขายสินค้าเถื่อน หรือเป็นเว็บไซต์เถื่อน เพราะระบุตัวตนไม่ได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกโกงด้วย ทั้งนี้ที่ผ่านมา กรมฯ ได้มีการดำเนินการกับผู้ค้าขายออนไลน์และทำการฉ้อโกงประชาชนในรูปแบบต่างๆ แล้ว เช่น กรณีสั่งซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง มีทั้งสั่งปรับ แจ้งตำรวจดำเนินคดีฉ้อโกง ปิดเว็บไซต์ ส่งสรรพากรตรวจสอบภาษี โดยผู้ที่ทำการฉ้อโกง หากเป็นผู้ประกอบการที่ไม่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้สั่งปรับ 2,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท และยังส่งดำเนินคดีตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย ซึ่งมีโทษปรับเป็นแสนบาท

“กรมฯ เอาจริง และขอบอกว่าจะจัดหนัก พวกที่ค้าขายออนไลน์ แต่ไม่ขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง โดยได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ถ้าเจอก็เรียกมาปรับ จนกว่าจะขึ้นทะเบียน ส่วนพวกที่ทำผิดและประชาชนพบว่าถูกหลอกลวง ก็ให้แจ้งมาที่กรมฯ ผ่านสายด่วน 1570 หรือแจ้งไปยัง สคบ. ซึ่งกรมฯ จะร่วมมือกับ สคบ. เข้าไปจัดการ และติดตามดำเนินคดีอย่างจริงจัง” นางสาวผ่องพรรณ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯได้ส่งรายชื่อบริษัทกว่า 100,000 รายให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบภาษีย้อนหลัง เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่ได้มีการส่งงบการเงิน หลังจากสิ้นสุดการรับงบการเงิน ไปตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมาจากนิติบุคคลที่มีอยู่กว่า 550,000 รายทั่วประเทศ เบื้องต้นในปี 58 ได้มีการถอนทะเบียนกับบริษัทที่ไม่ส่งงบการเงินติดต่อกัน 2-3 ปี ประมาณ 5,000 รายแล้ว ซึ่งจะทำให้นิติบุคคลดังกล่าวไม่สามารถประกอบธุรกิจได้อีกต่อไป

ที่มา – PPTV


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!