ทำความรู้จัก รถไฟฟ้าไร้คนขับ ในยสนามบินยานสุวรรณภูมิ

APM : ทำความรู้จัก กับรถไฟฟ้าไร้คนขับคันแรกของประเทศไทย หลายคนพอจะทราบถึงข่าวคราวการเตรียมเปิดตัว อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรืออาคารแซทเทิลไลท์ (SAT-1) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีกำหนดจะทดสอบระบบและเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งนอกจากอาคารหลังใหม่แล้ว อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่คนไทยตั้งตารอนั่นคือ ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) หรือรถไฟฟ้ารางเบาไร้คนขับ APM ที่จะนำมาวิ่งใต้อุโมงค์เพื่อเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารปัจจุบันกับอาคารหลังใหม่แห่งนี้

แต่รู้หรือไม่ว่า “อินเตอร์ลิ้งค์ฯ” ของเรา ได้จับมือร่วมกับบริษัท SIEMENS ในการจัดหารถไฟฟ้า APM ส่งตรงจากโรงงานที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งได้ส่งถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา (ล็อตแรกจำนวน 1 ขบวน ประกอบด้วย 2 โบกี้) โดยทางผู้บริหารของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรับมอบรถไฟฟ้าดังกล่าว (ขบวนที่เหลือจะทยอยส่งมอบภายในปลายปี 2563 นี้)

จริงๆ ชื่อ APM นั้นไม่ใช่ชื่อรถ แต่คือระบบทั้งหมดที่เรียกว่า ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ  (Automated People Mover: APM) ซึ่งรถ APM ที่จะใช้ในสนามบินสุวรรณภูมินั้น ผลิตโดยบริษัท SIEMENS ซึ่งถ้าถามว่า แล้วที่ไหนบ้างที่ใช้รถ APM แบบนี้ บอกเลยว่าเยอะมาก ทั้งสนามบิน Charles de Gaulle และสนามบิน Ory ที่ประเทศฝรั่งเศส สนามบิน O’Hare International Airport ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงยังวิ่งให้บริการตามเมืองต่างๆ ทั้งที่ประเทศอิตาลี เกาหลีใต้ และไต้หวัน

สำหรับรถ APM ที่ใช้ในสนามบินสุวรรณภูมินั้น เป็นรุ่น AIRVAL ที่ใช้ระบบรางวิ่งแบบ central rail-guided  APM มีรางจ่ายไฟ 750 VDC บริเวณกึ่งกลางทางวิ่ง มีความถี่ในการวิ่งให้บริการสูง สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีระยะเบรคสั้น ล้อรถเป็นยางซึ่งจะยึดเกาะได้ดีในพื้นที่ลาดเอียง และให้เสียงที่เงียบกว่าระบบไฟฟ้าอื่นๆ น้ำหนักทั้งหมดอยู่ที่ 31.223 ตัน ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 210 คนต่อขบวน แบ่งเป็น 16 คนนั่ง 194 คนยืน ซึ่งจะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 3,590  คนต่อชั่วโมงต่อเที่ยว

โดยจำนวนรถที่จะส่งมอบมีทั้งหมด 6 ขบวน (1 ขบวน ประกอบด้วย 2 โบกี้) พร้อมวิ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ โดยจะวิ่งใต้ดินให้บริการรับส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันกับอาคารหลังใหม่ เป็นระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 2 นาทีต่อเที่ยว ถือเป็นแห่งแรกและครั้งแรกของประเทศไทย ที่จะมีรถไฟฟ้าให้บริการฟรีภายในสนามบินอีกด้วย


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!