iPrice เจาะลึก! จริงหรือไม่? กรุงเทพฯ เป็นเมืองมีค่าครองชีพแพงที่สุดในภูมิภาค

ก้าวเข้าปีที่สองแล้วสำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงไปทุกภาคธุรกิจทั่วโลก แต่ก็เริ่มเห็นแสงสว่างเป็นวัคซีนที่ผลิตจากหลากบริษัทชั้นนำทำให้หลายประเทศเริ่มเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว ก่อเป็นไอเดียให้หลาย ๆ คนเริ่มวางแผนชีวิตหลังโควิดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม และหนึ่งในแผนการยอดนิยมก็คือ ‘การออกไปเรียนรู้และหาประสบการณ์นอกประเทศ’ คนที่ยังไม่เคยไปก็อาจต้องทำการบ้านหาข้อมูลหนักหน่อยเพื่อให้ชีวิตใหม่ในต่างแดนลำบากน้อยที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงเพื่อลดความเสี่ยง และหนึ่งในข้อมูลที่ได้รับการค้นหามากที่สุดก็คือ ‘ค่าครองชีพ’ ของแต่ละประเทศ ที่ส่วนใหญ่ผู้คนจะนำมาเปรียบเทียบกับคุณภาพชีวิตในประเทศไทยเพื่อประกอบการตัดสินใจ

iPrice Group บริษัทวิจัยตลาดออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ numbeo.com เผยประเทศที่มีค่าครองชีพ ‘ถูก’ ที่สุดเฉลี่ยโดยประมาณต่อคนต่อเดือน เก็บข้อมูลจากชาวต่างชาติ (คละสัญชาติ) ที่อาศัยอยู่ ณ เมืองหลวงของประเทศนั้น ๆ ทั้งหมด 6 ประเทศหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม รวมไปถึงประเทศไทยโดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

กัวลาลัมเปอร์ เมืองที่มีค่าครองชีพน่าคบหาในภูมิภาค!

อย่าปล่อยให้สุภาษิตไทยที่ว่า ‘ใกล้เกลือกินด่าง’ มาทำให้เสียใจภายหลัง เพราะมาเลเซีย คือประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยในแบบที่ว่านั่งรถบัสไปได้ และยังเป็นอีกหนึ่งประเทศ English Speaking ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ข้อดีของการลองย้ายไปหาประสบการณ์คือ กัวลาลัมเปอร์มีค่าเช่าที่พักอาศัยถูกที่สุดในภูมิภาคโดยเฉลี่ยเพียง 9,044 บาทเท่านั้น มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับที่ 2 (34,209 บาท) เป็นรองเพียงสิงคโปร์ และนอกจากค่าที่พักถูกแล้วค่าตั๋วหนัง (91 บาท) และค่าน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร (11 บาท) ยังถูกที่สุดด้วยเช่นกัน เสริมทับด้วยการที่กัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองที่มีรายจ่ายน้อยกว่ารายรับ 1 ใน 2 เมืองจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อีกเมืองคือสิงคโปร์) โดยมีค่าครองชีพเฉลี่ยรวม 24,566 บาท ในขณะที่เงินเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34,209 บาท

สิงคโปร์ เมืองที่มีค่าครองชีพสูง แต่คุณภาพชีวิตก็สูงตามไปด้วย

หากพูดถึงประเทศที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในภูมิภาคคงหนีไม่พ้นสิงคโปร์ จากข้อมูลพบว่า ถึงแม้ค่าครองชีพจะสูงแต่ก็สมน้ำสมเนื้อกับรายรับ และรายจ่าย เช่น ข้อมูลชี้สิงคโปร์มีอัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 118,075 บาท แต่มีค่าเช่าที่อยู่อาศัยเฉลี่ย 46,686 บาท หรือราว ๆ 39% ของเงินเดือน ต่างจากค่าเช่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่สูงถึง 48% ของเงินเดือน หรือค่าเช่าที่อยู่อาศัยในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามที่แพงที่สุดในภูมิภาคถึง 71% ของเงินเดือน แต่ทั้งนี้ค่าครองชีพที่ว่าสูงในสิงคโปร์ก็ยังไม่เกินรายรับ (เงินเดือนโดยเฉลี่ย) เหมือนเมืองหลวงส่วนใหญ่ในภูมิภาค และค่าครองชีพโดยรวมของสิงคโปร์คือ 76,770 บาท เป็น 1 ใน 2 ประเทศของภูมิภาคที่มีรายรับมากกว่ารายจ่าย (อีกเมืองคือกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย)

มะนิลา ตัวเลือกสำหรับคนงบน้อยที่อยากก้าวออกไปฝึกภาษาในต่างแดน

แม้ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในมะนิลาจะมีราคาถูก แต่ก็เป็นเมืองที่มีอัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยน้อยที่สุดในภูมิภาคด้วยเช่นกัน (12,277 บาท) ในขณะที่มีค่าเช่าที่พักอาศัยเฉลี่ยที่ 14,137 บาท ซึ่งสูงกว่าเงินเดือน และมะนิลายังเป็นเมืองที่มีค่าตั๋วหนังเฉลี่ยแพงเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์อีกด้วย (มะนิลา 162 บาท และสิงคโปร์ 280 บาท)

ข้อดีของการออกไปหาประสบการณ์ที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์คือ การได้ฝึกภาษาแบบจัดเต็ม เพราะแทบจะทุกคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ และยังใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เป็นเหตุผลที่ค่าเทอมในโรงเรียนนานาชาติของเมืองมะนิลามีราคาถูกที่สุด (9,750 บาท) ถ้าเทียบกับประเทศ English Speaking ทั้งหมดในภูมิภาค  และมะนิลายังเป็นเมืองที่มีค่าอาหาร Fast Food ชุดเซ็ตชีสเบอร์เกอร์จากแมคโดนัลถูกที่สุดในภูมิภาคอีกด้วย (78 บาท)

โฮจิมินห์ ฐานทัพของโลกอีคอมเมิร์ซ และสตาร์ทอัพอย่างแท้จริง

อาจไม่เหมาะสำหรับการย้ายถิ่นฐานไปหาประสบการณ์ ไม่ว่าจะด้วยการสื่อสารที่ใช้ภาษาอังกฤษน้อย มีค่าเช่าที่พักอาศัยเฉลี่ยสูงถึง 10,767 บาท สูงที่สุดในภูมิภาคเมื่อนำมาเทียบกับเงินเดือน ในขณะที่เงินเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15,071 เท่านั้น ยังไม่นับรวมค่าครองชีพพื้นฐานโดยรวมที่สูงถึง 25,396 บาท ซึ่งสูงกว่ารายรับเกือบเท่าตัว ค่าเดินทางแม้จะถูกที่สุดในภูมิภาคที่ 135 บาท แต่อาจเป็นเพราะไม่มีรถไฟฟ้า หรือการโดยสารที่คล่องตัวนั่นเอง

ข้อดีของการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม คือ หากอยากลองหางานแนวอีคอมเมิร์ซ หรือสตาร์ทอัพ ที่นี่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือนทั้งเจ้าเล็ก เจ้าใหญ่ อ้างอิงจากงานวิจัย Map of E-commerce ของ iPrice Group ยิ่งถ้ามีทักษะทางภาษา อาจลองยื่นเรื่องไปฝึกงาน หรือหางานที่มีตำแหน่งสูง ๆ ได้ไม่ยาก

จาการ์ต้า สวรรค์ของชาวมุสลิมที่กำลังมองหาสถานที่ออกไปหาประสบการณ์

หากกล่าวว่า ‘โฮจิมินห์ เป็นฐานทัพของโลกอีคอมเมิร์ซ และสตาร์ทอัพอย่างแท้จริง’ แล้วล่ะก็ จาการ์ต้าก็คงเป็นฐานทัพที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแบบฮาลาล เพราะที่เวียดนามอาหารเกือบทุกชนิดจะทำมาจากหมู ในขณะเดียวกันอาหารที่จาการ์ต้าก็ทำมาจากเนื้อ หรือไก่ พร้อมตราฮาลาลที่เหมาะกับชาวมุสลิมออกไปหาประสบการณ์อย่างแท้จริง

จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย คืออีกหนึ่งประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเกินรายรับ มีค่าครองชีพโดยรวมเฉลี่ยถึง 26,305 บาท ในจำนวนค่าครองชีพนี้มีค่าเช่าที่พักอาศัยรวมอยู่ 9,610 บาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อดีของจาการ์ต้า เพราะมีค่าเช่าที่พักอาศัยน้อยที่สุดรองจากเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีเงินเดือนโดยเฉลี่ยพื้นฐานอยู่ที่ 14,922 บาท น้อยที่สุดในภูมิภาค สำหรับค่าสาธารณูปภาคพื้นฐานอย่าง ค่าน้ำ 1.5 ลิตร (11 บาท), ค่าเดินทาง (216 บาท), ค่าอาหาร Fast Food (108 บาท), หรือค่าตั๋วหนัง (108 บาท) ในจาการ์ต้าถือว่ามีราคาน่าคบหา แม้จะไม่ถูกที่สุดในภูมิภาค แต่ก็อยู่ในเรตราคาต่ำ ไปถึงราคากลางเท่านั้น

 

ชี้! ชาวกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายเกินรายรับ

จากการเก็บข้อมูลพบว่า เงินเดือนโดยเฉลี่ยของชาวกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26,502 บาท แต่กลับมีข้อมูลค่าครองชีพรวมโดยเฉลี่ยสูงถึง 33,032 บาท ถือว่ามีรายจ่ายเกินรายรับพื้นฐานอยู่มากพอตัว เมื่อนำเมนูอาหาร Fast Food ยอดนิยมอย่างชุดเซ็ตชีสเบอร์เกอร์จากแมคโดนัลมาเปรียบเทียบใน 6 ประเทศ ยังชี้ว่า อาหารเมนูนี้ในกรุงเทพฯ มีราคาแพงเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น (กรุงเทพฯ 150 บาท และสิงคโปร์ 175 บาท)

มากไปกว่านั้น ยังมีค่าครองชีพหลักที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่กรุงเทพฯ นับว่าสูงเป็นอันดับที่ 3 (12,942 บาท) และค่าเดินทางก็สูงเป็นอันดับที่ 2 (1,040 บาท) ซึ่งเป็นรองเพียงสิงคโปร์อีกเช่นเคย อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีค่าเทอมโรงเรียนนานาชาติสูงเป็นอันดับที่ 1 (25,000 บาท) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่างกันเกือบครึ่งจากเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามที่สูงเป็นอันดับที่ 2 (14,666 บาท) อาจเพราะเป็นประเทศ Non-speaking นั่นเอง

การศึกษาข้อมูล

iPrice Group เก็บข้อมูลค่าครองชีพโดยประมาณต่อคนต่อเดือนเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 จาก numbeo.com เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลจากผู้ร่วมให้ข้อมูลกว่า 500,000 ราย ยังไม่รวมข้อมูลที่ออกสำรวจด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ มีการอัพเดตข้อมูลปีละ 2 ครั้ง เลือกเก็บข้อมูลจากอัตราค่าครองชีพที่สุดที่สุดในแต่ละประเภท โดย Numbeo.com ได้กรองข้อมูลในแต่ละประเทศโดยใช้เทคโนโลยีฮิวริสติกและลบข้อมูลที่ไม่ถูกต้องทางสถิติออก และใช้อัตราการแปลงสกุลเงิน XE ประจำวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564

เก็บข้อมูล เขียน และวิเคราะห์โดย ขนิษฐา สาสะกุล


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!