กรมสุขภาพจิตระบุเด็กไทยติดเกมขั้นวิกฤต 2.5 ล้านคน เสนอหน่วยที่เกี่ยวข้องมาควบคุม

มีข่าวเล็กๆ น้อยๆ ภายในประเทศเรามาฝากครับ เมื่อกรมสุขภาพจิตออกมาเตือนว่าเด็กไทยกำลังเข้าสู่สภาวะติดเกมเข้าขั้นวิกฤติ ถึง 2.5 ล้านคน จากเด็กทั้งหมด 18 ล้านคน (ตามราชบัณฑิตยสถานบอกว่าเด็ก คือ คนที่อายุไม่เกิน 18 ปี) พร้อมทั้งมีการเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางเทคโนโลยี ทำการพัฒนากระบวนการสำหรับควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต/การเล่นเกมของเด็ก และมีมาตรการเฝ้าระวังไม่ให้สถานการณ์บานปลายไปกว่านี้อีกด้วย

อ้างจากต้นฉบับ (อ่านข่าวฉบับเต็มได้จากลิงก์ที่มา)

เด็กไทยติดเกมขั้นวิกฤต เผยข้อมูลล่าสุดพบจำนวนเด็กติดเกมพุ่ง 2.5 ล้านคน จากจำนวนเด็ก 18 ล้านคน หวั่นลุกลามจนเด็กติดเกมหนักส่งผลเสียต่อสุขภาพ ชี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามามีบทบาทควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต หรือการเล่นเกมของเด็กที่เหมาะสม ทั้งควรพัฒนาวิธีวินิจฉัยเด็กและบำบัดเด็กที่มีปัญหาติดเกม ขณะที่ กรมสุขภาพจิตเล็งกำหนดวิสัยทัศน์ 10 ปีข้างหน้าหาวิธีรับมือเด็กติดเกม โดยดึงพ่อแม่ เด็ก ร.ร.และชุมชนร่วมคิด

ศ.เกียรติคุณ พญ.สยมพร ศิรินาวิน หัวหน้าคณะทำงานจัดการข้อมูลประเด็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรณีเด็กไทยกับไอที กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประชุมสัมมนาวิชาการและเครือข่ายคนทำงานเพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ประเด็น “เด็กไทยกับไอที” ได้มีการระดมสมองเพื่อหาทางออกและวางแผนขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านไอที โดยขณะนี้ พบว่า ปัญหาเด็กติดเกมถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพัฒนากระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต และการเล่นเกมของเด็กอย่างเหมาะสม พัฒนาร้านเกมอินเทอร์เน็ตให้เป็นสถานที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ และเป็นมิตรกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมถึงพัฒนาวิธีการวินิจฉัยเด็กและบำบัดเด็กติดเกมและอินเทอร์เน็ตให้สอดคล้องกับมิติของสังคมไทย พัฒนาศักยภาพของโรงเรียน ครอบครัวและชุมชนในการแก้ปัญหา รวมทั้งหาสถานที่ให้เด็กใช้เวลาว่างอย่างเป็นประโยชน์

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยจำนวนเด็กติดเกม 2.5 ล้านคน จากจำนวนทั้งหมด 18 ล้านคน ถือเป็นสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากในปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 13.3 เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 14.4 ในปี 2555 ปัจจุบัน ก.สาธารณสุข และ ก.ศึกษาธิการ ได้พยายามเข้าไปแก้ปัญหาในเชิงรุกด้วยการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปให้ความรู้ถึงในโรงเรียน พร้อมใช้มาตรการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันไม่ปล่อยให้ปัญหาบานปลายถึงขั้นเด็กติดเกมอย่างหนัก ซึ่งทำให้การบำบัดรักษาทำได้ยากมากขึ้น นอกจากนั้น จะต้องเร่งรัดในการพัฒนาเครือข่ายของผู้ปกครองให้มีความเข้มแข็ง พร้อมจับมือกับกระทรวงวัฒนธรรมในการกระจายความรู้ไปยัง 4 ภูมิภาค ร่วมกับแกนนำชุมชน

“ขณะนี้เราต้องวางวิสัยทัศน์ในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าจะแก้ปัญหาเด็กติดไอทีอย่างไร ต้องระดมทั้งความรู้และเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทั้งในระดับโรงเรียน เด็ก ครอบครัว และชุมชน”

ที่มา – ASTVผู้จัดการออนไลน์

ภาพประกอบ – RSU News.net


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!