“SimSimi” ระบาดหนัก !!! กระทรวงวัฒนธรรมเป็นห่วง แนะให้ควบคุม เหตุเพราะกลัวเยาวชนใช้คำหยาบ !

เชื่อว่านักท่องเน็ตชาวไทย หลายคนคงเคยเห็นหรือรู้จักกับเจ้า SimSimi ซึ่งเป็นแอพสำหรับโทรศัพท์มือถือ เป็นบอทที่สามารถคุยกับเราด้วยภาษายียวนกระสาท จนได้รับความนิยมและถูกนำมาแชร์บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) กันอย่งแพร่หลาย

ล่าสุดทางกระทรวงวัฒนธรรม นำโดย น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงถึงความเป็นห่วงสถานการณ์ที่ช่วงนี้วัยรุ่นไทยนิยมเล่น และส่งต่อบทสนทนาของเจ้า SimSimi กันอย่างหนัก เพราะมีทั้งคำหยาบ, คำไม่สุภาพ และไม่สามารถคัดกรองข้อความเหล่านั้นได้ โดย น.ส.ลัดดา ยังกล่าวอีกว่าหากไม่มีการควบคุมการใช้งาน SimSimi ให้เหมาะสมหรือใช้อย่างเลยเถิด ก็อาจส่งผลที่ไม่ดีต่อสังคมได้

แอพ SimSimi เป็นแอพที่พัฒนาโดยทีมงานจากประเทศเกาหลี อ่านว่า “ซิมซิมิ” (심심이) แปลเป็นภาษาไทยว่า “เบื่อ” โดยการทำงานของแอพนั้น จะใช้ฐานข้อมูลคำถาม/คำตอบ จากการที่เปิดให้ผู้ใช้ได้ส่งเข้ามา เมื่อมีคนมาเล่นและถาคำถามตรงกับย้อมูลที่มี ก็จะสุ่มคำตอบของคำถามนั้นๆ มาแสดง ปัจจุบันแอพ SimSimi มีทั้งในระบบ iOS, Android และผ่านหน้าเว็บไซต์ปกติอีกด้วยครับ

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม

ข่าวฉบับเต็ม

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ห่วงเยาวชน คำหยาบระบาดหนักใน แอพพลิเคชั่น SimSimi แนะรัฐช่วยคัดกรองเหมือนประเทศเกาหลีใต้ ด้านนักวิชาการจุฬาฯ เชื่อ แค่ฮิตชั่วข้ามคืนเดี๋ยวผ่านมาแล้วก็ผ่านไป…

น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวถึงกระแส แอพพลิเคชั่น SimSimi  ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงบนโทรศัพท์มือถือในเวลานี้ ว่า ถึงเป็นเพียง แอพพลิเคชั่น หนึ่งที่ทางผู้ผลิตในประเทศเกาหลีใต้สร้างขึ้น เพื่อประโยชน์ทางภาษา แต่มาถึงประเทศไทยกลายเป็นเรื่องสนุกของการใช้ที่เลยเถิด กลายเป็นการใช้คำไม่สุภาพ คำหยาบ แต่ที่ประเทศเกาหลีใต้ จะมีตัดคัดกรองภาษาที่ไม่เหมาะสม แต่ประเทศไทยไม่มี

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยที่พบกรณีนี้ ยังจำกัดเฉพาะกลุ่ม ไม่ถึงเด็กวัยรุ่นในวงกว้างมาก เพราะผู้ใช้ต้องมีเครื่องโทรศัพท์ไอโฟน แต่ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องเทคโนโลยี อยู่ที่คนใช้ต้องมีภูมิคุ้มกัน รู้อะไรควรไม่ควร ใช้ให้ถูกาลเทศะ เพราะหากใช้ในทางไม่เหมาะสมก็เป็นโทษกับตนเอง แต่หากใช้ให้เป็นประโยชน์ สังคมก็จะได้ประโยชน์ผู้ใช้ก็จะได้ประโยชน์ด้วย

ด้าน ดร.อมรวิทย์ นาครทรรพ อาจารย์คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เป็นเพียงกระแสความนิยมที่ผ่านมาแล้วจะผ่านไป เหมือนการใช้ภาษาบนสังคมออนไลน์ อาจจะมีคำพูดไม่สุภาพ แต่เมื่อถึงเวลาต้องใช้อย่างถูกต้อง ยังมีเยาวชนอีกมากที่รู้ว่าอะไรควรและเหมาะสม แต่สิ่งที่อยากเสนอคือกรอบและกลไกการดูแลระบบการสื่อสาร ทางช่องทางอินเทอร์เน็ตที่ประเทศไทยยังมีการดูแลน้อย

SimSimi

ที่มา : ไทยรัฐ (ภาพประกอบจากมิติชน)

อ่านข่าวนี้แล้วมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ ? มาแลกเปลี่ยนกันได้


ส่งต่อเรื่องนี้ให้เพื่อน!